หรือนี่จะเป็นขาขึ้นของสตาร์ทอัพ?
: เพราะอะไรองค์กรใหญ่จึงหันมาจับธุรกิจสตาร์ทอัพกันมากขึ้น
ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา วงการสตาร์ทอัพเมืองไทยมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการเกิดขึ้นของยูนิคอร์นถึง 2 ตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน กลายเป็นการจุดไฟแห่งความหวังครั้งใหม่ให้กับสตาร์ทอัพในบ้านเราอีกครั้ง จากที่เคยมีนักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่า ตลาดในเมืองไทยเอื้อให้เกิดยูนิคอร์นได้ยาก ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลไปถึงเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ทั้งระดับมหภาค จุลภาค รวมถึงเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างเอสเอ็มอี (SMEs) และสตาร์ทอัพ (Startup) ที่เจอกับแรงเสียดทานอย่างหนักด้วยสายป่านกระแสเงินสดที่ไม่ได้ยาวเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่นั่นเอง
ความได้เปรียบของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กก็คือ ความสามารถในการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปกับความผันผวนได้คล่องตัว สตาร์ทอัพเองก็มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในชั่วโมงนี้มากที่สุดด้วย บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจึงเริ่มระดมไอเดียการทำสตาร์ทอัพภายในองค์กรเป็นของตัวเอง เพื่อไปให้ถึงจุดที่เรียกว่า ‘New S-Curve’
Future Trends ไปคุยกับตูน โชติมา สิทธิชัยวิเศษ CEO แห่ง Venture Lab แล็บที่ทำหน้าที่เป็น ‘Venture Builder’ ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยคำถามสำคัญที่ว่า เพราะอะไรบริษัทขนาดใหญ่จึงสนใจการทำสตาร์ทอัพของตัวเองมากขึ้นสตาร์ทอัพเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ ความเสี่ยง ความท้าทาย และสิ่งที่คนทำสตาร์ทอัพต้องเจอมีอะไรบ้าง
การเติบโตของสตาร์ทอัพไทยในวิกฤตแห่งความเปลี่ยนแปลง
สตาร์ทอัพในหลายอุตสาหกรรมที่เติบโตด้วยกราฟ exponential ไม่ว่าจะเป็น telemedicine,
e-commerce, food delivery หรือ edtech รวมถึงสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับ virtual office อย่าง ‘gather’ ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น กลายเป็นกระแสไวรัลที่ผู้คนให้ความสนใจล้อไปกับการมาถึงของเมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็วจากการใช้ชีวิตผ่าน virtual กันมากขึ้น ทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่คนทำงานเริ่มปรับตัวกับการทำงานแบบ ‘remote working’ ได้แล้ว นอกจากนี้ ธุรกิจที่ให้บริการซอฟต์แวร์ที่เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ก็น่าจะยังขยายตัวต่อไป
แต่หากถามว่าตอนนี้สตาร์ทอัพไทยอยู่ในสถานะฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหรือไม่ ตูนมองว่า หลักๆ แล้วเศรษฐกิจในภาพใหญ่จะยังคงมีบริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักอยู่ โดยมีสตาร์ทอัพเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหรือ catalyst ที่คอยกระตุ้นตลาดให้คึกคักด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้บริษัทหลายแห่งตื่นตัวในการทำ digital transformation และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้บริษัทสามารถแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของสตาร์ทอัพ ณ ปัจจุบันกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 นั้นต้องบอกว่าสตาร์ทอัพไทยมีโอกาสที่ดีขึ้นมาก ไทยมี success case ให้เห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพก็สามารถสร้างรายได้หลายหมื่นล้านบาทได้ ในวันที่พฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
“ เนื่องจากสตาร์ทอัพมีความได้เปรียบในเรื่องความสามารถในการปรับตัวและตอบสนองตลาดได้อย่างรวดเร็วหรือที่ชอบพูดกันว่า ‘move fast’ จึงมีโอกาสเป็น ‘first mover’ ในหลายๆ ธุรกิจ เพราะจุดแข็งของสตาร์ทอัพคือ เก่งในเรื่องการเปิดตลาด สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ”
จุดนี้ทำให้ทุกคนในระบบเศรษฐกิจกลับมาตื่นตัวอีกครั้งหนึ่ง นั่นจึงเป็นที่มาที่ว่า ทำไมบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจึงให้ความสนใจ หันมาจับธุรกิจสตาร์ทอัพกันมากขึ้น ซึ่งทาง MFEC ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็มี ‘Venture Lab’ เป็นสตาร์ทอัพ สตูดิโอ ด้วย
ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า คือ สิ่งแรกที่ Venture Lab ให้ความสำคัญ
“MFEC เป็นบริษัทเทคโนโลยี อยู่ในแวดวงนี้อยู่แล้วและยังเติบโตได้ดี แต่เราจะยึดติดกับความสำเร็จหรือธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้ Venture Lab เกิดจากการทำ transformation ในองค์กร เราอยากสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อหนีดิสรัปชันเหมือนกัน โดย Venture Lab เปรียบได้กับสตูดิโอปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งแต่ศูนย์จนพัฒนาออกสู่ตลาด และขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีทั้งกรณีที่เราสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเองจากปัญหาหรือ pain point ของตัวเอง และกรณีที่เราไปจับมือร่วมสร้างกับพาร์ตเนอร์ซึ่งเขาเป็น domain expert ในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยเวลาสร้างของใหม่เราจะถามตัวเองก่อนว่า สตาร์ทอัพที่จะสร้างใหม่ดีกว่าเดิมยังไง ถูกกว่ายังไง เร็วขึ้นกว่าเดิมยังไง”
Venture Lab ทำหน้าที่เป็นทั้ง business และ tech partner เรามีทั้งสกิลฝั่ง business ที่รู้วิธีทดสอบตลาดให้เร็วในต้นทุนที่ต่ำ และสกิลฝั่งเทคโนโลยีที่รู้วิธีสร้างผลิตภัณฑ์ที่เร็วและดี ด้วยความที่เป็นบริษัทลูกของ MFEC จุดแข็งก็คือการมีจำนวน developer เยอะ ทำให้สามารถสร้าง prototype ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนได้
สำหรับตัวอย่างผลงานความสำเร็จที่ผ่านมานั้น Venture Lab สร้างสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า ‘Talance – Tech Talent On Demand’ แพลตฟอร์มที่รวบรวม freelance developer ชั้นนำจากทั่วประเทศ โดยให้บริการหาคนที่แมตช์กับตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ยังสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่บริษัทหลายแห่งเปิดรับการทำงานร่วมกับพนักงานฟรีแลนซ์มากขึ้น เพราะฟรีแลนซ์ช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มลดคนที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงคนทำงานยุคนี้ก็ไม่ได้ทำงานจ็อบเดียวอีกต่อไป ‘Talance’ จึงเข้ามามีส่วนช่วยทำให้กระบวนการหาคนง่ายขึ้นและถูกลง และยังรองรับการเติบโตของกระแส open talent economy ที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบัน Talance มี developer ที่พร้อมให้บริการ 150 คน ให้บริการลูกค้าองค์กรไปแล้ว 50 บริษัท และจัดจ้างรวมแล้วมากกว่า 10,000 ชั่วโมง
“Venture Lab เป็นเหมือนสตูดิโอที่ทำให้กระบวนการสร้างธุรกิจใหม่เร็วขึ้น แม่นขึ้น และต้นทุนถูกลง เนื่องจากเรามีคนที่เคยลองผิดลองถูกมาแล้วนับร้อยครั้ง มีประสบการณ์การเรียนรู้มาแล้วว่า ทำแบบไหนจะเวิร์กไม่เวิร์กอย่างไร สำหรับบริษัทที่ต้องการเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ ต้องดูว่าเทรนด์อะไรที่มันกลับมาปลี่ยน landscape ธุรกิจเราบ้าง ดูว่าพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยนไปอย่างไร เราอาจจะไม่ต้องตั้งโจทย์จากการที่ต้องทำสตาร์ทอัพเหมือนคนอื่น แต่กลับไปที่จุดตั้งต้นของธุรกิจก่อนว่า ธุรกิจเรายังตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีเหมือนวันแรกๆ หรือเปล่า” CEO แห่ง Venture Lab กล่าวปิดท้ายและแม้ว่าตอนนี้สถานการณ์โดยรวมจะเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่จากวิกฤตที่ผ่านมาก็ทำให้คนทำธุรกิจต้องเร่งถอดบทเรียน-เตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ ความคล่องตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปได้ใหม่ๆ กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี ซึ่งด้วยจุดแข็งที่สามารถ ‘move fast’ กว่าภาคส่วนอื่นๆ ได้แบบนี้แหละ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพอัปโดดเด่น และอยู่รอดไปกับทุกสถานการณ์ได้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก Future trends
Comments