top of page
Search
  • Writer's pictureVenture Lab Admin

Marketeer online เล่าถึงการสร้างทีม Digital Transformation ของ MFEC

Updated: Sep 17, 2021

เมื่อมีคนพูดถึงเราในโลกออนไลน์ เราก็หยุดไม่ได้ที่จะต้องนำมาแชร์ต่อ บางคนอาจเคยได้อ่านหรือผ่านตากันมาแล้ว แต่สำหรับใครที่พึ่งมีโอกาสได้ศึกษาหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับการ Transform องค์กร

วันนี้มีโอกาสได้นำสิ่งที่ Marketeer online เคยมาสัมภาษณ์เราก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการที่ MFEC ไม่อยากถูก Disrupt ก็เลยต้อง Transformation แบบนี้!




"เรากำลังอยู่ใน Playtorium หรือออฟฟิศของ MFEC บริษัทไอทีที่ให้บริการให้คำปรึกษา พัฒนาและวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายงานสารสนเทศ ระดับ Top 3 ของประเทศไทย คนทั่วไปคงไม่คุ้นบริษัทนี้เท่าไร แต่ถ้าในแวดวง Banking Finance Corporate ใหญ่ๆ ทั้งเอกชนและภาครัฐ ล้วนต่างเคยใช้บริการ Information Security เจ้านี้มาแล้วทั้งนั้น"


"นี่คืออีกองค์กรที่เข้าใจเรื่อง Disruption และปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ 3-4 ปีก่อน ด้วยการสร้างทีม Digital Transformation มาเปลี่ยนตั้งแต่รากจรดใบขององค์กร และบรรยากาศข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งในผลลัพธ์ของการ Transform ดังกล่าว"


Transform ตั้งแต่เบอร์หนึ่ง

วันนี้ตั้งใจมาพูดคุยกับ ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร CEO ของ MFEC เรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่หลังจากทักทายสวัสดีเสร็จ เจ้าตัวก็ทำให้เราประหลาดใจ ด้วยการผายมือให้ อาร์ม ศิวะดิตถ์ Cheif Transformation Officer กับ โชติมา สิทธิชัยวิเศษ Business Innovation Director เข้ามานั่งคุยกับเราแทน

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงต้องคุยเองหมด แต่เรา Transform ไปแล้ว CEO ต้องนั่งอยู่ข้างหลัง คนรุ่นใหม่ๆ ต่างหากคือผู้กุมบังเหียนองค์กร วันนี้ต้องให้สองคนนี้คุย ไม่ใช่ผม” ประโยคแรกของเขา เป็นคำตอบที่ทำให้เห็นจริงๆ เลยว่าผู้บริหารที่ Transform แล้ว สไตล์ต้องเป็นแบบนี้



ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร


ปรับ Mindset พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

อาร์ม ศิวะดิตถ์ Cheif Transformation Officer คือผู้วางยุทธศาสตร์การ Transformation และหนึ่งในหน้าที่หลักที่เขาได้รับมอบหมายคือดูแลทรัพยากรบุคคลในองค์กร นั่นหมายความว่า Digital Transformation ของ MFEC ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างคนเป็นหลัก


“Transformation เริ่มต้นที่คนก่อนเสมอ สิ่งที่เปลี่ยนเป็นอันดับแรกก็คือ Mindset ของคนในองค์กร ต้องไม่ยึดติดกับความเคยชินเดิมๆ คิดว่ารูปแบบการทำงานเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน นี่คือสิ่งที่คุณต้องเปลี่ยนอย่างแรก อย่างลูกค้าเราอยู่ในอุตสาหกรรมแบงก์ ทุกวันนี้เบอร์หนึ่งไม่ได้กลัวเบอร์สอง เบอร์สองไม่ได้กลัวเบอร์สาม แต่เขากลัวหน้าใหม่ที่ไม่ใช่แบงก์ ที่มีวิธีคิดการทำงานที่ต่างออกไป ใช้นวัตกรรมที่ทุนต่ำลง แต่ได้บริการสะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น Digital Transformation มันน่ากลัวตรงนี้”


เมื่อเราไม่ยึดติดกรอบความสำเร็จเดิม ทีนี้เราก็มาดูว่าเรามีอะไรอยู่แล้วบ้าง บางอย่างเราอาจจะมีอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้ดีขึ้น บางอย่างก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเลย ต้องเข้าใจโจทย์ของตัวเองซึ่งแต่ละเจ้ามีความแตกต่างและอาจจะ Copy ใครไม่ได้ สิ่งที่อาร์มย้ำคือ ต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ว่าจะเริ่มปรับเริ่มเปลี่ยนอะไรก่อน


“การ Transform ของแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน บางที่เริ่มที่กระบวนการ สำหรับเรา อย่างที่เห็นว่าเราเริ่มที่คน ต้องทำให้คนของเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องทำให้คนของเรากระตือรือร้นรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ กล้าที่จะสร้างสิ่งใหม่ ตรงนี้ยากมาก มันไม่ใช่เรื่องที่พูดแล้วจบ สั่งแล้วได้ทันที ต้องใช้เวลาค่อยๆ ถ่ายทอด เริ่มต้นโดยคุณต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เมื่อคุณสร้างสิ่งใหม่ให้เขาเห็นได้ก่อน เขาถึงจะสร้างสิ่งใหม่ได้เช่นกัน”

อาร์ม ศิวะดิตถ์


ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้ทำตรงข้ามของเดิมไว้ก่อน

เพราะความกลัว คืออุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแล้วจะดีกว่าเดิมหรือไม่ ใช่ทางออกหรือเปล่า คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้บริหารหนุ่มย้ำว่า ต้องกำจัดออกไปก่อน


“ถ้าคุณอยากรู้ในสิ่งที่ไม่มีใครรู้มาก่อน สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องทดลอง ต้องพร้อมยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นแน่ๆ และคุณจะเห็นว่าอะไรที่ทำแล้วดีขึ้น อะไรที่มันไม่เวิร์ก ผมจะบอกลูกน้องเลยว่า ถ้ามีปัญหาแล้วนึกไม่ออกว่าจะแก้ยังไงดี ให้ทำตรงข้ามกับสิ่งที่เคยทำ ทดลองให้สุดขั้ว คือถ้าแบบเดิมเราเลี้ยวซ้าย Transform ก็ต้องไปทางขวาให้สุด แล้วมาดูว่าได้ผลหรือเปล่า แล้วค่อยปรับให้สมดุล”


นัยของการให้คิดตรงข้าม ใจความสำคัญไม่ได้บอกว่า การเดินตรงข้ามเป็นสิ่งถูกต้องกว่าเดิมเสมอ แต่มันคือการเปิดโอกาสให้พนักงานได้กล้าคิด กล้าทำ ไม่กลัว ไม่ลังเล ไม่ครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรที่เราเคยเจอมาส่วนใหญ่ จะทำอะไรต้องคิด ต้องอยู่ในกรอบ เขียนอะไรไปผู้ใหญ่จะได้ไม่ตำหนิว่าออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งการให้ทำตรงข้าม เสมือนการให้ไฟเขียวความสร้างสรรค์ได้เดินอย่างเต็มที่


“ปีที่ผ่านมาเราปรับเปลี่ยนใหม่หมด คือทำตรงข้ามกับสิ่งที่เคยทำ เอาสนุกอย่างเดียว ทำอย่างไรที่จะงัดไอเดียเจ๋งๆ ในที่ประชุมได้ น้องคนหนึ่งบอกว่าต้องทำบรรยากาศการประชุมให้รีแลกซ์ขึ้น ขอพรีเซนต์ไอเดียด้วยท่าเต้นเจ๋งๆ ในที่ประชุม เออ! พอทุกคนเห็นว่าผู้ใหญ่ไม่ว่า หลังจากนั้นความกล้ามันก็เกิดขึ้น สั่ง 1 อย่าง ได้ไอเดียมา 10 อย่าง ซึ่งมันปฏิเสธไม่ได้ว่าในสิบอัน มันจะมีสักอันหนึ่งที่ใช้ได้จริง”




บรรยากาศเปลี่ยน ความสร้างสรรค์ก็มา คำนี้ใช้ได้จริง ซึ่ง 3 ปีก่อน ที่เริ่มต้นทำออฟฟิศใหม่ จัดบรรยากาศให้รีแลกซ์ ไม่เหมือนกับการนั่งทำงานในออฟฟิศ สามารถนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ มีมุมพักผ่อน มีฟิตเนส มีโต๊ะพูล มีบอร์ดเกมให้เล่น และมีร้านกาแฟในออฟฟิศ ที่แค่ได้กลิ่น แรงทำงานก็มาแล้ว


“บรรยากาศสำคัญกับการทำงานเสมอ ยิ่งพนักงานเราที่นี่หลายร้อยคน ส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 30 กัน ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างที่ทำงานที่ทำให้พวกเขามีความสุขที่สุด” อาร์มย้ำถึงความสำคัญในการสร้าง Cultureใหม่ ซึ่งต้องใช้องค์ประกอบด้วยกันทุกรูปแบบประสมกัน และบรรยากาศคืออีกหนึ่งคีย์เวิร์ด



ขอแค่ครึ่งชั่วโมง คิด OKR สำหรับพรุ่งนี้

พนักงานที่นี่มีเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงเท่ากับทุกที่ แต่ที่พิเศษกว่าหน่อย ใน 8 ชั่วโมง จะต้องมีครึ่งชั่วโมงที่อาร์มเล่าว่า ทุกคนจะต้องคิดทบทวนว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องแก้ไข วันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วคุณจะหาทางป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร


“ธุรกิจไม่ควรรอให้มีการแข่งขันแล้วค่อยปรับเปลี่ยน ยิ่งงานของเราคือการสร้างโซลูชันไอทีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ดังนั้น วันนี้ต้องรู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะรอให้คู่แข่งมาแข่งก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนไม่ได้ ผมชอบ Culture ของประเทศที่โดนสงครามเล่นงานมาก่อน เขาจะพร้อม Relocate ตัวเอง เพราะเขาไม่มั่นใจว่าอนาคตมันจะเป็นอะไร จะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่คัลเจอร์บ้านเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราต้องปลดล็อกตรงนี้ให้ได้”

การให้เวลาในการคิดในแต่ละวัน วันละครึ่งชั่วโมงนี่ล่ะ ที่เป็นวิธีการปลดล็อก แต่ไม่ได้ให้คิดเปล่าๆ แล้วจบไป มีวิธีการวัดผลด้วย เรียกว่าการทำ OKR


“OKR เป็นอีกดัชนีวัดผลการทำงานอีกชุดหนึ่ง ถ้า KPI คือการวัดผลงานที่ผ่านมาโดยผู้บริหารเป็นผู้ประเมิน OKR ก็คือการตั้งเป้าในอนาคต โดยตัวพนักงานเองที่จะเป็นคนตั้ง”


“เวลาเราตั้ง KPI ก็ต้องดูความเป็นไปได้เสมอ แต่ถ้าเป็น OKR มันเป็นสิ่งที่ออกมาจาก Passion ของพนักงาน ซึ่งเป้าก็ต้องท้าทายมากกว่าเดิม แล้วมาดูกันว่าจะทำได้ตาม OKR มากแค่ไหน ซึ่งจากที่ผ่านมา มันดีกว่า KPI มาก ช่วยเร่งสปีดในการ Transform มากขึ้น”



ดูแลลูกค้าตั้งแต่ต้นน้ำ

โชติมา สิทธิชัยวิเศษ Business Innovation Director ผู้บริหารคนใหม่ที่เข้ามาเสริมกำลัง Transformation อีกคนหนึ่ง เธอเล่าว่าเป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่ MFEC จะทำให้เรื่อง Transformation เป็นรูปธรรม และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาแนะนำลูกค้าอีกต่อ


แน่นอนว่า ทุกบริษัทอยากทำ Transformation เพื่อให้ทันต่อโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยี คนในองค์กร หรือลูกค้า แต่เราจะทำยังไงให้ Transformation เห็นเป็นรูปธรรมได้ล่ะ นี่คือโจทย์ที่ทุกองค์กรต้องตอบให้ได้


“เราเริ่มต้นจากการ Transform คนของเราก่อนให้กลายเป็น Intrepreneur หรือผู้ประกอบการภายใน โดยเราได้ปั้นโครงการ Incubation เพื่อบ่มเพาะไอเดียของพนักงานภายในองค์กร โดยมีจุดประสงค์ 3 อย่าง คือ


(1) เพื่อสร้าง Mindset ที่ทุกสิ่งต้องเริ่มจากการเข้าใจความต้องการของลูกค้า หากเรามี Mindset ที่ถูกต้อง เราจะถามคำถามที่ถูกต้องได้


(2) เพื่อสร้าง Skill set ที่เรียนรู้จากการทดลองทำจริง ล้มเหลวจริง


(3) เพื่อทำให้คนกลุ่มนี้เป็น Change agent ช่วยสร้าง Culture นี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรต่อไป ในท้ายที่สุดคนในองค์กรจะคอยตั้งคำถามกับสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ คอยมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจ และคอยทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง”


การ Transform จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้ามันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้น เธอจึงเล่าถึงการตั้งทีม Venture Builder ขึ้นมาเพื่อลงมือค้นหาปัญหาทั้งในองค์กรและของลูกค้า ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่พอ ที่ควรได้รับการแก้ไข ทดสอบว่าโซลูชันใหม่ที่คิดขึ้นมาสามารถแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้จริง


และไปจนถึงช่วงที่ต้องพิสูจน์ได้ว่ามีลูกค้าที่ต้องการใช้และจ่ายเงินเพื่อซื้อโซลูชันของจริงๆ โดยใช้หลักการของ Design Thinking และ Lean Startup เพื่อทดลองผิดทดลองถูกอย่างรวดเร็วและในราคาที่ถูก



โชติมา สิทธิชัยวิเศษ


“การตั้งทีม Venture Builder ในครั้งนี้ เราไม่คิดอยากจะทำคนเดียว แต่เราอยากจะร่วมมือกับลูกค้าที่มีความเข้าใจเชิงลึกทางธุรกิจและมีช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าที่แท้จริง แล้วใช้จุดแข็งของ MFEC ในฐานะ Technical Partner ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันปั้นไอเดียที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจตรงกัน ให้เกิดเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้จริง โดยที่ผ่านมา MFEC ได้ร่วมมือในลักษณะนี้มาแล้วกับลูกค้าที่รู้ตัวว่าตนเองกำลังจะถูก Disrupt จนเราสามารถสร้างธุรกิจใหม่ร่วมกัน

ดังนั้นเราจึงเชื่อว่าการดูแลลูกค้าตั้งแต่ต้นน้ำจะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น win-win ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่ได้โซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง และ MFEC ที่ได้เรียนรู้ความต้องการทางธุรกิจและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ที่สุด”


ลูกค้ามีปัญหาอะไรมากที่สุด เรื่อง Transformation

ในขณะที่โลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ คำถามที่น่ากลัวที่สุด ทำอย่างไรที่องค์กรหรือธุรกิจของเราจะไม่ถูก Disrupt..ทำอย่างไรที่องค์กรจะก้าวได้เท่าทัน ไม่ถูกกลืนกิน แม้ทุกองค์กร รู้อยู่แล้วว่าต้อง Digital Transformation แต่จะต้องเริ่มอย่างไร ทำอย่างไร


และคำตอบจากด้านบน น่าจะเป็นคีย์เวิร์ดให้สำหรับนักการตลาด


ต้องกล้าที่จะเปลี่ยน เริ่มต้นจากการสร้างคน ด้วยการสร้างบรรยากาศและปัจจัยการทำงานที่เหมาะสม โจทย์ที่ดีที่สุดคือการไม่มีโจทย์ นี่เป็นคำพูดที่เขาย้ำ นัยสำคัญคือการปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นการทำงานได้ตลอด


“มันไม่สำคัญว่าคุณจะตั้งโจทย์ไว้สูงแค่ไหน ตราบใดที่คนของคุณมีศักยภาพ พวกเขาย่อมสามารถทำได้ดีกว่าโจทย์ที่คุณตั้งไว้”







ทางเราต้องขอขอบคุณการสัมภาษณ์และบทความดีๆที่เล่าถึงเราจาก Marketeer online

อ้างอิงจาก https://marketeeronline.co/archives/94719 (Date: 11/02/2019 Author: konkrai)

และทุกคนสามารถอัพเดตข่าวสารการตลาดอื่นๆได้ที่ Website: Marketeeronline.co

bottom of page